การโจมตีสายฟ้าแลบทางอากาศ ของ ผู้การเจมส์ ดูลิตเติ้ล 

(The Doolittle's Raid, April 18, 1942)

เครื่องบินทิ้งระเบิด B-25 กำลังบินขึ้นจากดาดฟ้าของเรือบรรทุกเครื่องบิน Hornet

เมื่ออาทิตย์ก่อน เพื่อนๆได้อ่านเรื่องราวของจอมพลญี่ปุ่นผู้วางแผนการโจมตีสายฟ้าแลบที่เพิรล์ฮาร์เบอร์ ดังที่ภาพยนต์เรื่องนี้ซึ่งกำลังนำมาฉายที่เมืองไทยได้เสนอไปแล้ว วันนี้เราลองมาดูปฏิบัติการโจมตีกรุงโตเกียวเพื่อแก้แค้นของคนอเมริกันที่ญี่ปุ่นได้บังอาจไปหักปีกอินทรี ถึงประตูหลังบ้านกันบ้าง 

ปฏิบัติการนี้ได้มีการนำเสนอในภาพยนต์เพิรล์ฮาร์เบอร์เกือบครึ่งเรื่อง เพียงแต่ว่าตัวละครอาจจะมีการสมมติกันบ้างซึ่งผมก็ไม่ทราบรายละเอียดนัก แต่ตัวละครหนึ่งที่ใช้ชื่อจริงและประวัติจริงก็คือ ผู้การเจมส์ ดูลิตเติ้ล (Col.James Doolittle) ซึ่งประวัติของท่านผู้การผู้นี้ผมจะได้เรียบเรียงให้อ่านกันในคราวหน้า

เรือบรรทุกเครื่องบินที่เห็นอยู่ลิบๆนั้นคือ USS.Hornet

การโจมตีสายฟ้าแลบครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เพิรล์ฮาร์เบอร์ถูกโจมตีได้ประมาณห้าเดือน โดยการกดดันของประธานาธิบดี รูสเวลต์ ซึ่งในตอนแรกทางกองทัพได้แจ้งแก่ประธานาธิบดีรูสเวลต์ว่า ไม่มีทางที่จะสามารถโจมตีญี่ปุ่นโดยที่ญี่ปุ่นไม่รู้ตัวได้เลย เนื่องจากไม่มีฐานทัพที่อยู่ใกล้ญี่ปุ่นในรัศมีที่เครื่องบินทิ้งระเบิดจะบินไปทิ้งระเบิดได้ และถ้าใช้เรือบรรทุกเครื่องบิน ก็ต้องเข้าไปใกล้ในรัศมีสามร้อยไมล์จากเกาะญีปุ่นจึงสามารถที่จะส่งเครื่องบินบนเรือบรรทุกเครื่องบินบินไปทิ้งระเบิดได้ และกว่าที่เรือบรรทุกเครื่องบินจะเข้าไปในรัศมีใกล้ขนาดนั้น กองเรืออาจจะถูกตรวจพบได้ก่อน แต่ประธานาธิบดีรูสเวลต์ยังยืนยันที่จะให้มีการโจมตีทางอากาศที่กรุงโตเกียวอยู่ "จะต้องมีทางที่จะทำได้ (That a way be found.)" 

ในที่สุด ปัญหาทั้งหมดจึงได้ถูกแก้ลง จากการเข้าตรวจสอบเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ชื่อว่า USS Hornet CV-8 โดย Capt. Francis Lowe และคณะผู้ตรวจสอบของจอมพล เออเนส คิง ซึ่งได้มีไอเดียในการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดซึ่งปกติบินขึ้นจากฐานพื้นดินและมีระยะทางบินไกลกว่าเครื่องบินทิ้งระเบิดที่ใช้บนเรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งจะใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดประเภทนี้ บินขึ้นจากดาดฟ้าของเรือบรรทุกเครื่องบิน ภายในวันที่สิบหก มกราคม ปีเดียวกันนายทหารภายใต้การควบคุมของ Lowe ที่ชื่อ Capt. Donald Duncan ได้พัฒนาเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดกลาง "ฺฺB-25" ให้มีความสามารถในการบรรทุกลูกระเบิดรวมทั้งหมดหนึ่งตันและบินได้ไกลถึงสองพันไมล์จากเครื่องเรือบรรทุกเครื่องซึ่งมีระยะทางในการบินขึ้นที่สั้น เครื่องบินทิ้งระเบิดนี้แหละครับ ถูกกำหนดให้บินจากเรือบรรทุกเครื่องบินไปทิ้งระเบิดที่ญี่ปุ่นและบินไปลงที่เมืองในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่

Capt. Duncan และ  Capt. Marc Mitscher ซึ่งเป็นนายทหารเรือประจำเรือบรรทุกเครื่องบิน Hornet ได้ทำงานกันอย่างลับที่สุดนอกฝั่งเวอร์จิเนียในตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ และพบว่า B-25 สามารถที่บินขึ้นจากดาดฟ้าเรือบรรทุกเครื่องบินโดยใช้ระยะทางการบินขึ้นแค่ ห้าร้อย ฟุตเท่านั้นเอง เพื่อนๆที่ค่อนข้างมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องเครื่องบินคงจะทราบกันดีนะครับว่าเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดกลางบรรทุกระเบิดเต็มอัตราศึก จะสามารถบินขึ้นได้จะต้องใช้ทางบินขึ้นระยะทางพอสมควรทีเดียว

หลังจากทุกอย่างได้ถูกกำหนดตามแผนการแล้ว ในวันที่แปด เมษายน ค.ศ. 1942 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่ทหารอเมริกันและฟิลิปปินส์ได้ยอมแพ้แก่ญี่ปุ่น บนคาบสมุทร Bataan  เรือบรรทุกเครื่องบิน "Enterprise" ได้แล่นออกจากเพิรล์ฮาร์เบอร์ ตามด้วยขบวนเรือคุ้มกัน มุ่งหน้าสู่แปซิฟิกตอนเหนือ จริงๆแล้วหกวันก่อนหน้านั้น เรือบรรทุกเครื่องบิน "Hornet" พร้อมทั้งขบวนเรือคุ้มกัน ได้ออกจากฝั่งซาน ฟรานซิสโกไปทางตะวันตกของมหาสมุทธแปซิฟิกแล้ว Hornet ลำนี้ได้บรรทุกเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดกลาง B-25 ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น หลังจากที่บรรดาลูกเรือของ Enterprise ได้พบกับขบวนเรือของ Hornet ข่าวลือต่างๆก็ได้แพร่กระจายไปท่ามกลางกองเรือทั้งสอง บ้างก็ว่าจะมีการขนย้ายเครื่องบินทิ้งระเบิดเหล่านั้นไปฐานทัพที่ Aleutians บ้างก็ว่าเครื่องบินทิ้งระเบิดเหล่านั้นจะถูกส่งไปที่ประเทศรัสเซียบนคาบสมุทธ Kamchatka แต่แล้วเมื่อผู้บังคับการกองเรือยุทธการ จอมพล William F. Halsey ประกาศว่ากองเรือนี้จะไปทิ้งระเบิดที่กรุงโตเกียว ลูกเรือของขบวนเรือ Enterprise ได้ร้องลั่นด้วยความกระหายระคนไปกับความแปลกใจและไม่เชื่อว่าจะทำได้ขนาดนั้น

ตามแผนการนั้นฝูงบินทิ้งระเบิดนำโดย Col.James Doolittle จะต้องบินจากดาดฟ้าของ Hornet และทิ้งระเบิดบนจุดเป้าหมายที่กรุงโตเกียวซึ่งจะเปิดทางให้ฝูงบินทิ้งระเบิดที่เหลือซึ่งจะบินขึ้นจาก Hornet ห่างจากกรุงโตเกียวราวๆห้าร้อยไมล์บินไปทิ้งระเบิดบนเป้าหมายในกรุงโตเกียว โอซากา นาโกยา และโกเบ โดยใช้จุดทิ้งระเบิดที่ฝูงบินก่อนหน้านี้ได้ทำไว้ให้นำทาง หลังจากนั้น ฝูงบินทั้งหมดจะต้องบินมุ่งหน้าไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านทะเลเหลืองและบินจากนั้นไปอีกราวๆหกร้อยไมล์ไปยังประเทศจีนและบินลงที่สนามบิน Chuchow 

ทุกอย่างผ่านมาได้ด้วยดีจนกระทั่งตอนเช้าของวันที่สิบแปดเมษายน ขบวนเรือได้ตรวจพบกองเรือลาดตระเวนของญี่ปุ่น ซึ่งณ.จุดนั้นยังห่างจากจุดที่จะต้องปล่อยฝูงบินทิ้งระเบิดถึงราวๆสองร้อยไมล์ ดังนั้นผู้บังคับการกองเรือจึงตัดสินใจสั่งให้จมเรือลาดตระเวนเหล่านั้นแหละปล่อยฝูงบินทิ้งระเบิดทันที ฝูงบินทิ้งระเบิดของ Doolittle ได้บินขึ้นจากเรือบรรทุกเครื่องห่างจากจุดที่กำหนดถึงราวๆหนึ่งร้อยเจ็ดสิบไมล์

หลังจากนั้นในตอนบ่าย ทุกฝ่ายได้หันเหความสนใจไปที่สถานีวิทยุของกรุงโตเกียวซึ่งออกอากาศเป็นภาษาอังกฤษและพบว่า ยังมีการออกอากาศรายการปกติอยู่ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงว่าทางญี่ปุ่นยังไม่รู้ตัวว่าจะมีการโจมตีทางอากาศเกิดขึ้นในไม่ช้า จากนั้นเวลาเที่ยงในกรุงโตเกียว เสียงออกอากาศจากภาษาอังกฤษได้เปลี่ยนเป็นภาษาญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว และตามด้วยความเงียบทันที ซึ่งหมายความว่าการโจมตีทางอากาศได้เกิดขึ้นแล้ว ฝูงบินได้ทิ้งระเบิดไปยังเป้าหมายต่างๆรวมทั้ง แหล่งเก็บน้ำมัน โรงถลุงเหล็ก โรงงานผลิตไฟฟ้า และทางใต้ซึ่งมีการทิ้งระเบิดที่โยโกฮาม่าและโยโกซุกะ ซึ่งรวมทั้งเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดเบาลำใหม่ของญี่ปุ่นด้วย การทิ้งระเบิดครั้งนี้มีการผิดเป้าหมายไปลงยังโรงเรียนและโรงพยาบาล

หลังจากนั้นฝูงบินทั้งหมดได้บินสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ในประเทศจีน แต่ว่าเนืองจากฝูงบินได้ถูกปล่อยห่างจากจุดที่แผนการเดิมไว้ถึงร้อยเจ็ดสิบไมล์จึงทำให้ฝูงบินเหล่านั้นไม่สามารถบินไปได้ตามเป้าหมาย เครื่องบินลำหนึ่งได้บินขึ้นไปทางเหนือและลงจอดที่สนามบินของรัสเซีย เครื่องบินที่เหลือสิบห้าเครื่องได้ร่อนลงในประเทศจีนซึ่งไม่ใช่จุดเป้าหมาย โชคดีที่นักบินกว่าแปดสิบคนรวมทั้งลูกเรือได้รอดชีวิตจากปฏิบัติการครั้งนี้ ลูกเรือแปดคนได้ถูกจับในจำนวนนี้สามคนถูกทหารญี่ปุ่นฆ่า ที่เหลือเสียชีวติในช่วงถูกควบคุมตัว มีลูกเรือสี่คนที่เสียชีวิตในระหว่างปฏิบัติการ เพื่อนๆที่ได้ดูภาพยนต์แล้วคงจะนึกภาพเหตุการณ์ในหนังเทียบกับเหตุการณ์จริงออกนะครับ 

ความเสียหายจากการปฏิบัติการณ์นี้แม้ว่าจะน้อยเมื่อเที่ยบกับความเสียหายที่เพิรล์ฮาร์เบอร์ แต่เป็นการโจมตีที่ทั้งทางสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ และทำให้ขวัญและกำลังใจของทหารอเมริกันเพิ่มขึ้นอีกมากมายมหาศาลตรงตามความคาดหมายของประธานาธิบดีรูสเวลล์คาดไว้

แต่ว่าประเทศจีนเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างมหาศาลจากผลของการโจมตีครั้งนี้ครับ ในเดือนพฤษภาคม ปีเดียวกัน ญี่ปุ่นได้ปฏิบัติยุทธการชื่อว่า Sei-Go โดยมีเป้าหมายอยู่สองอย่างคือป้องกันไม่ให้สนามบินของจีนเป็นที่ปล่อยและร่อนลงของเครื่องบินทิ้งระเบิดซึ่งสามารถบินไปโจมตีเกาะญี่ปุ่น และลงโทษหมู่บ้านที่คิดว่าเป็นที่อาศัยพักพิงกับนักบินของปฏิบัติการนี้ ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากผลของการปฏิบัติการครั้งนี้มีถึงสองแสนห้าหมื่นคนทีเดียว ทั้งหมดที่ถูกสังหารโดยทหารญี่ปุ่นนั้นเป็นชาวจีนที่อาศัยอยู่ในจังหวัด Chekiang และ Kiangsu

Lt. Col. Jimmy Doolittle ผู้นำการโจมตีทางอากาศกำลังรับเหรียญรางวัลจาก Capt. Marc A. Mitscher ซึ่งเหรียญรางวัลนี้ทางญี่ปุ่นได้ให้แก่นายทหารเรือของสหรัฐอเมริกาก่อนเกิดสงคราม เหรียญรางวัลนี้ได้ถูกผูกติดกับลูกระเบิดขนาดห้าร้อยปอนด์ และถูกส่งกลับไปญี่ปุ่น "พร้อมของแถม" ("With Interest") ซึ่งในภาพยนต์ก็มีการกล่าวถึงตอนนี้ด้วย

ครั้งหน้าผมจะนำเรื่องราวของวีรบุรุษของคนอเมริกัน Col.James "Jimmy" Doolittle มานำเสนอนะครับว่า เขาเป็นใครมีผลงานอะไรถึงได้รับเลือกให้เป็นผู้นำทีมปฏิบัติการลับสุดยอดนี้

ดอน


หน้าแรก || เรื่องยาวทั่วไปหลายตอนจบ || นิยายวิทยาศาสตร์ || บทความพิเศษ || เรื่องเขาเล่ามา

Copyright © 2001 by Kritapak Boonteekul. All rights reserved. No part of the contents of this website may be reproduced or transmitted in any form or by any means without the written permission of the owner.